วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิเคราะห์แนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติ ตอนที่ 5

ตอนที่ 5
คุณประโยชน์ของสำนักกฎหมายธรรมชาติต่อโลก

จากประวัติศาสตร์ทางความคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติ เป็นประวัติศาสตร์ของการค้นหาความยุติธรรมของมนุษยชาติ ที่เริ่มตั้งแต่สมัยกรีกเมื่อสองพันปีเศษมาแล้ว สำนักกฎหมายธรรมชาติมีความคิดทางกฎหมายว่า กฎหมายเป็นเรื่องของเหตุผล ดังคำกล่าวของ Cicero ที่ว่า กฎหมายอันแท้จริง คือ เหตุผลอันชอบธรรมที่สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยมีผลใช้บังคับได้อย่างเป็นสากลไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นนิรันดร์

การต่อสู้ทางความคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติผ่าน มาหลายยุคหลายสมัย นับแต่ยุคกรีกโบราณและโรมัน (ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 โดยประมาณ) , ยุคมืดและยุคกลาง (คริสต์ศตวรรษที่ 12-16 โดยประมาณ) , ยุคฟื้นฟูและยุคปฏิรูป (ยุคฟื้นฟูอยู่ในช่วงคริสศตวรรษที่ 14 16 โดยประมาณ ส่วนยุคปฏิรูปอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยประมาณ) , ยุคชาติรัฐนิยม (คริสต์ศตวรรษที่ 18 ) จนกระทั่งมาถึงยุคปัจจุบัน (ปรัชญากฎหมายธรรมชาติร่วมสมัย) ในแต่ละยุคแต่ละสมัยได้มีแนวคิดจากนักคิดในสำนักกฎหมายธรรมชาติที่ สำคัญ ๆ หลายท่าน อาทิ เช่น plato , Aristotle , Cicero , St. Thomas Aquinas , Hugo Grotius , Samuel Pufendorf , Montesquieu , John Locke , Christian Thomasius , Jean Jacques Rousseau ก่อให้เกิดทฤษฎีต่าง ๆ เช่นทฤษฎีสัญญาประชาคม , ทฤษฎีแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย เป็นต้น ถ่ายทอดต่อมาและส่งทอดต่อไปถึงสมัยใหม่ภายหลังอย่างไม่ขาดตอน

ความคิดกฎหมายธรรมชาติสมัยใหม่ มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อระบบกฎหมายใหม่ของยุโรปตะวันตก โดยทำให้กฎหมายสมัยใหม่เป็นระบบที่มีเหตุผล และคำนึงถึงมนุษยธรรม เป็นความพยายามที่จะให้เหตุผลตามธรรมชาติซึงมนุษย์สามารถเข้าใจได้มาจัดทำระบบกฎหมายบ้านเมือง(Positive Law) ใหม่แทนความคิดและความเชื่อของศาสนจักร ต่อมามีการนำความคิดตามกฎหมายธรรมชาติมาแยกแยะและวิเคราะห์แล้วมาบัญญัติเป็นกฎหมายบ้านเมือง (Positive Law) ในลักษณะของกฎหมายลาย ลักษณ์อักษร เน้นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเอกชนและการปกครองที่มีอำนาจจำกัด จนกระทั่งนำไปสู่การปฏิวัติใหญ่ 2 ครั้งในโลก นั่นคือ การประกาศอิสรภาพของอเมริกาจากอาณานิคมของอังกฤษ ใน ปี ค.ศ. 1787 และการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1789 มีการนำเอาแนวคิดของปราชญ์เมธีมาบัญญัติเป็นกฎหมาย ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา และ คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองฝรั่งเศส

ในสมัยใหม่นี้ กฎหมายธรรมชาติในฐานะที่เป็นกฎหมายอุดมคติได้กลายเป็นเครื่องมือในการวิจารณ์สังคม กฎหมายธรรมชาติจะเป็นทฤษฎีนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปทิศทางที่ดีกว่า ซึ่งก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อโลกเป็นอย่างยิ่ง ดังตัวอย่าง เช่น

1. ระบบทาส นักกฎหมายธรรมชาติยืนยันว่าระบบทาสเป็นสิ่งที่ขัดกันอย่างรุนแรงกับธรรมชาติ การจับคนไปเป็นวัตถุหรือทรัพย์สินที่ซื้อขายกันได้นั้นขัดกับหลักกฎหมายธรรมชาติ ในที่สุดระบบทาสก็ถูกล้มเลิกไป

2. ระบบวิธีพิจารณาแม่มด หรือระบบที่เรียกว่าทรมานร่างกายเพื่อรักษาดวงวิญญาณ ผู้ใดมีบุคลิกแตกต่างจากบุคคลอื่นในสังคม จะกลายเป็นผู้สื่อสารกับภูตผีปีศาจซึ่งเป็นศัตรู

ของพระผู้เป็นเจ้า ผู้นั้นจึงเป็นศัตรูกับธรรมะ มีความผิดฐานเป็นพ่อมดหรือแม่มด จึงใช้วิธีทรมานเพื่อให้สารภาพความจริง มีการทรมานเพื่อให้รับสารภาพและซัดทอดไปยังบุคคลอื่นทั้งที่ปราศจากความจริง ก่อให้เกิดการฆ่ากันอย่างมากมาย นักกฎหมายเห็นว่าเป็นการขัดกับหลักกฎหมายธรรมชาติ จึงต่อสู้เรียกร้องให้มีวิธีพิจารณาความที่เป็นธรรม โดยจะต้องตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ ได้ว่าเขากระทำความผิดจริงตามคำกล่าวที่ว่า ปล่อยผู้กระทำความผิดสิบคนดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์คนเดียว ในสมัยใหม่จึงมีระบบกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาอย่างที่เป็นอยู่ใน สมัยปัจจุบันนี้

3. ระบบราชทัณฑ์ ระบบในสมัยนั้นเลวร้ายมาก ผู้ที่ถูกจำคุกจะมีชีวิตที่ไม่ต่างจากสัตว์ นักกฎหมายธรรมชาติจึง ต่อสู้ให้มีการแปลงระบบราชทัณฑ์เสียใหม่ เพื่อผู้ต้องโทษจะได้มีชีวิตที่ดีพอสมในฐานะมนุษย์ มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดี จึงเกิดทฤษฎีการลงโทษเพื่อเยียวยารักษาผู้กระทำผิดคืนกลับสู่สังคมได้ แทนทฤษฎีการลงโทษเพื่อแก้แค้นผู้กระทำผิด

4. ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย สำนักกฎหมายธรรมชาติเชื่อในธรรมชาติของ มนุษย์ที่จะมีเสรีภาพในการปกครองต้นเอง การต่อสู้เพื่อจัดระเบียบการปกครองให้สังคมมีเสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพจึงอุบัติขึ้น การปฏิวัติของฝรั่งเศสก็ดี การต่อสู้เพื่อเอกราชของสหรัฐอเมริกาก็ดี เป็นการต่อสู้ตามแนวความคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาตินั่นเอง

บทสรุป

กฎหมายธรรมชาติมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. กฎหมายเป็นเรื่องของเหตุผล กฎหมายที่แท้จริง คือ เหตุผลที่ถูกต้อง

2. กฎหมายธรรมชาติมีลักษณะทั่วไป

3. กฎหมายธรรมชาติผูกพันทุกคนให้ต้องปฏิบัติตาม

4. กฎหมายธรรมชาติมีค่าบังคับเหนือกว่า กฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้น

5. กฎหมายธรรมชาตินี้มีอยู่ภายในจิตใจของคน มนุษย์สามารถที่จะค้นพบว่าอะไรผิด-ถูก

6. กฎหมายธรรมชาติมีลักษณะสากลไม่เปลี่ยนแปลง
โดยทฤษฎีกฎหมายส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องการพิจารณาแนวความคิดระหว่างกฎหมายธรรมชาติและกฎหมายบ้านเมือง แต่ทฤษฎีกฎหมายสมัยใหม่เพิ่มมุมมองถึงการพิจารณาเรื่องของการเมืองด้วย  สาระสำคัญของทฤษฎีกฎหมาย คือ การอธิบายกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกที่ไม่ใช่กระบวนการบัญญัติกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติหน่วยเล็กๆบางทฤษฎี เช่น Constitutive theories เห็นว่า กฎหมายบ้านเมืองไม่สมบูรณ์ในขณะที่กฎหมายธรรมชาติไม่ใช่กฎหมายที่แท้จริง ส่วน Evaluative theories เห็นว่า กฎหมายบ้านเมืองเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับการถูกวิจารณ์ (criticism) ยิ่งกว่านั้นเนื้อหาของกฎหมายบ้านเมืองที่ไม่มีเหตุผลแท้จริงที่ถูกต้อง ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ
ข้าพเจ้าเห็นว่า การนำหลักการของกฎหมายธรรมชาติมาปรับใช้เป็นกฎหมายบ้านเมืองนั้นเป็นไปตามเหตุผล อุดมคติ และปรัชญา ที่ปัจเจกบุคคลผู้ร่างกฎหมายนั้นๆ เชื่อถือ แต่เนื่องจากกฎหมายก่อให้เกิดหน้าที่ต่างๆ หลายประการ ไม่เพียงเฉพาะกำหนดโครงสร้างทางการเมืองที่จำเป็นต้องกำหนดโดยกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น ผู้ร่างกฎหมายจึงควรตระหนักถึงและค้นหากฎเกณฑ์ความประพฤติ ที่มาจากจารีตประเพณี ศีลธรรม หรือศาสนา ของสังคมไทยในเบื้องต้น แล้วกำหนดกฎหมายของบ้านเมืองให้สูงกว่ามาตรฐานเบื้องต้นนั้น มิใช่ลอกเลียนกฎหมายฝรั่งแต่เพียงอย่างเดียว

บรรณานุกรม

จรัญ โฆษณานันท์. นิติปรัชญา. พิมพ์ครั้งที่สอง. กรุงเทพ:มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2532

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร,”ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ และนัยยะเชิงทฤษฎี

ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย” (น. 63-92) ขบวนการประชาสังคมไทย: ความเคลื่อนไหว

ภาคพลเมือง. อนุชาติ พวงสำลีและกฤตยา อาชวนิจกุล บรรณาธิการ. นครปฐม:

โครงการวิจัยและพัฒนาประชาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2542

นิภาพรรณ ไชยมงคล. นิติปรัชญาในมังรายศาสตร์. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2531.  , 180 หน้า.

พัชรินทร์ เปี่ยมสมบูรณ์. การปฏิรูปกฎหมายของประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2411 จนถึง

พ.ศ.2478. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517. 4 แผ่น

ยีน ชาร์ป. อำนาจและยุทธวิธีไร้ความรุนแรง. แปลโดยชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และคมสันต์ หุตะแพทย์ พิมพ์ครั้งแรก กรุงเทพ: มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2529
[1] แนวคิดทฤษฎีของสำนักกฎหมายธรรมชาตินั้น สิทธิเสรีภาพดั้งเดิมของมนุษย์ที่รับรองบัญญัติไว้จะไปจำกัดไม่ได้ เว้นแต่เข้าข้อยกเว้น (ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 29 ก็รับรองแนวคิดนี้ โดยบัญญัติว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้) ส่วนข้อยกเว้นอาจใช้ (1) เงื่อนไขกฎหมายทั่วๆไป เช่น เสรีภาพในเคหสถานอาจถูกจำกัดโดย ป.วิ.อ. (2) เงื่อนไขของกฎหมายเฉพาะ เช่น รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 34 ว.2 การจำกัดเสรีภาพในการเดินทางและเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ต้องอาศัยอำนาจตามกฎหมายเฉพาะ เป็นต้นว่ากฎอัยการศึก (3) ใช้เงื่อนไขกฎหมายใดๆ ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ได้ เช่น รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 37 ซึ่งใช้คำว่าเสรีภาพบริบูรณ์ จึงเพิ่มหรือลดไม่ได้เพราะจะไม่สมบูรณ์ในตัวของมันเองอีก

[2] ความยินยอมดังกล่าวสามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้ (1) ความยินยอมทั่วไป เช่น ยินยอมเพราะเชื่อว่าอยู่ยงคงกระพัน (2) ยินยอมเพื่อประโยชน์ของตนเอง เช่น การรักษาพยาบาล การผ่าตัด (3)ยินยอมเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น ทหารญี่ปุ่นขับเครื่องบินชนเรืออเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 2 (4) ความยินยอมในทางศีลธรรม เช่น บริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือ (ก)คนทั่วไป (ข)บุคคลในครอบครัว แต่ทั้ง 4 กรณีนั้น แนวคิดทฤษฎีของสำนักกฎหมายธรรมชาติไม่สามารถทำได้ เพราะสิทธิในชีวิตร่างกายมีอยู่ตามธรรมชาติ มนุษย์ไม่ได้กำหนดขึ้นเอง มนุษย์จึงไม่สามารถให้คนอื่นทำร้ายชีวิตหรือร่างกายได้โดยใช้หลักความยินยอม แต่ในเรื่องสิทธิในทรัพย์สิน มีประเด็นถกเถียงของสำนักกฎหมายธรรมชาติระหว่าง เพลโต ซึ่งเห็นว่าทรัพย์ทั้งหลายในโลกเป็นกรรมสิทธิ์รวม ไม่มีใครเป็นเจ้าของเด็ดขาด แต่อริสโตเติ้ลกลับเห็นว่ากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเกิดขึ้นได้ ไม่ได้เคร่งครัดเหมือนสิทธิในชีวิตร่างกาย เพราะโดยธรรมชาติหรือสัญชาติญาณของมนุษย์มีความต้องการที่จะเป็นเจ้าของ

[3] แนวคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติถือว่าชีวิตมนุษย์เป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ มนุษย์ไม่ได้กำหนดขึ้นและเป็นสิทธิที่มนุษย์ได้รับในฐานะที่เป็นมนุษย์ เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ก็มีสิทธิในร่างกายของตน ไม่ใช่สิทธิที่มนุษย์มีอำนาจแต่ได้รับเพราะเกิดเป็นมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์ไม่สามารถฆ่าตัวเองได้ และการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ในปัจจุบันที่ถือว่าการฆ่าตัวตายไม่เป็นความผิดจึงไม่ใช่แนวคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติ

[4] กรณีโทษประหารชีวิต ต้องพิจารณาถึงปรัชญาของกฎหมายอาญา 1.ในเรื่องการสร้างสมดุลหรือการหาสมดุลระหว่างการลงโทษกับการกระทำความผิด ว่าอยู่ตรงไหน และ 2.ในเรื่องการคุ้มครองสังคม กล่าวคือ หากพิจารณาว่าถ้ากระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นนั้นสมควรได้รับโทษประหารตามไป ด้วย เป็นการหาจุดสมดุลของโทษกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น

1 ความคิดเห็น:

  1. สาธุๆๆ เพราะอาตมา กำลังศึกษานิติศาสตรมหาบัณฑิต อยู่ ได้เข้าศึกษา และแอปอ่านของคุณโยม ดีมากจร้า และประโยชน์แก่บุคคลที่สนใจการเรียนรู้เรื่อง กฎของธรรมชาติ จร้า เจริญพร

    ตอบลบ