จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิเคราะห์แนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติ ตอนที่ 2

ตอนที่ 2
ในแง่ของนิติปรัชญา มีหลายสำนักความคิดทางกฎหมายที่มีความเห็นแตกต่างและขัดแย้งกันในการให้คำจำกัดความของกฎหมาย โดยแบ่งออกเป็น 3 สำนักความคิดใหญ่ดังนี้ (ปรีดี เกษมทรัพย์ 2526: 249)

1. สำนักกฎหมายธรรมนิยมหรือสำนักกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law School)

2. สำนักกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง (Legal Posiluvism)

3. สำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ (Historical School)

แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

สำนักกฎหมายธรรมนิยมหรือสำนักกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law School)

วิวัฒนาการของกฎหมายธรรมชาติ

1. ยุคเริ่มต้น กฎหมายธรรมชาตินั้นเป็นการพยายามของมนุษย์ที่จะค้นหาความยุติธรรมที่แท้จริง และความยุติธรรมที่แท้จริงที่มนุษย์ค้นพบนั้น คือ ลักษณะกฎหมายในอุดมคติหรือกฎหมายธรรมชาติ ดังนั้น กฎหมายธรรมชาติจึงขึ้นอยู่กับอิทธิพลของสภาพสังคมหรือภูมิปัญญาของนักปราชญ์ในแต่ละยุค (นักปราชญ์กฎหมายธรรมชาติสรุป ความเห็นเหมือนกันว่าโลกหรือจักรวาลนั้นเป็นสิ่งที่มีระบบ ไม่ได้โดดเดี่ยวหรือไร้สาระ แต่ถูกกำกับด้วยศีลธรรม ซึ่งระบบหรือระเบียบหรือศีลธรรมนั้นต้องเป็นสากล เรียกว่ากฎหมายธรรมชาติ

2. ยุคที่สอง เป็นการยืนยันว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีเหตุผล มนุษย์สามารถแยกความรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้

3. ยุคที่สาม กฎเกณฑ์ที่มนุษย์ใช้อยู่ในสังคมเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายธรรมชาติ  (ธรรมชาติ ความยุติธรรม และศีลธรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด) เช่น การพิจารณาคดีในระบบ common law หรือระบบจารีตประเพณี แนวคิดพื้นฐานในคดีอาญานั้น บุคคลธรรมดาทั่วไปสามารถชี้ผิดชี้ถูกได้ ดังนั้น การใช้ระบบลูกขุนก็มีพื้นฐานจากสำนักกฎหมายธรรมชาติที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีกฎเกณฑ์ตามธรรมชาติอยู่ในตัว สามารถแยกแยะชี้ผิดชี้ถูกในคดีอาญาได้ โดยไม่ต้องเรียนจบกฎหมาย แต่ในกรณีที่เป็นกฎหมายเทคนิค เช่น กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่กฎหมายธรรมชาติ อาจต้องใช้นักกฎหมาย ลูกขุนจึงชี้ผิดชี้ถูกในคดีได้ แต่การตัดสินลงโทษซึ่งมีกระบวนการเทคนิคทางกฎหมายนั้นเป็นเรื่องของศาล (ระบบลูกขุนใช้ในระบบกฎหมายจารีตประเพณีอันเป็นการนำแนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติไปใช้)

กฎหมายธรรมชาติได้พัฒนาการสู่ยุคโรมันที่ได้ชื่อว่ายุคทองของนักกฎหมายโรมัน จนเกิดความเชื่อว่าธรรมชาติสร้างได้ กฎหมายก็สร้างได้ เช่น การรับบุตลบุญธรรมที่บัญญัติขึ้นในยุคนี้เป็นการเลียนแบบแนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติ

อาณาจักรโรมันได้นำแนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติมาใช้โดยรวบรวมบัญญัติขึ้นเป็นประมวลกฎหมาย และในยุคใหม่ก็ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่นำแนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติมาบัญญัติบังคับใช้ไว้ในประมวลกฎหมาย โดยอ้างความเป็นสากลของกฎหมายธรรมชาติ เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสมาจากกฎหมายธรรมชาติ ประเทศอื่นที่ติดต่อค้าขายกับฝรั่งเศสจึงต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสเพราะมาจากกฎหมายธรรมชาติ

ครั้นเยอรมันจะทำประมวลกฎหมายบ้าง ก็เกิดปัญหาว่าจะเอาประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสเป็นต้นแบบหรือไม่ ฝ่ายหนึ่งยอมรับเอาประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ แต่อีกฝ่ายปฏิเสธ โดยอ้างเหตุผลว่าประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสมาจากกฎหมายธรรมชาติซึ่งเชื่อว่ามีความเป็นสากล แต่ความจริงแล้ว กฎหมายของ ชนชาติหนึ่งชนชาติใดก็ใช้บังคับเฉพาะชนกลุ่มนั้น เพราะแต่ละชนชาติมีจิตวิญญาณของคนในชาติ มีจารีตประเพณีและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติแตกต่างกัน จึงเกิดแนวคิดว่าจะทำประมวลกฎหมายที่ดีต้องไปศึกษาจิตวิญญาณของชนชาติ (Volksgeist)  ดังนั้น แนวคิดทฤษฎีที่นำมาบัญญัติเป็นประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมันจึงมีพื้นฐานจากสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์

สรุปความหมายและลักษณะสำคัญของความคิดสำนักกฎหมายธรรมนิยมหรือกฎหมายธรรมชาติ

กฎหมายธรรมชาติ หมายถึง กฎหมายซึ่งบุคคลอ้างว่ามีอยู่ตามธรรมชาติคือเกิดมีมาเองโดยมนุษย์ไม่ได้ทำขึ้น เป็นกฎหมายอยู่เหนือรัฐและใช้ได้โดยไม่จำกัดกาลเทศะ

(หยุด แสงอุทัย 2518: 130)

พอจะสรุปหลักการบางประการของความคิดสำนักกฎหมายธรรมนิยมหรือกฎหมายธรรมชาติได้ดังต่อไปนี้ (ปรีดี เกษมทรัพย์ 2526: 315-316)

1. สำนักนี้ยืนยันว่าโลกหรือจักรวาลเป็นสิ่งที่มีระบบระเบียบในทางศีลธรรมไม่ใช่สิ่งที่มีระบบระเบียบตามกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ทางธรรมชาติเท่านั้น

2. ระบบระเบียบสากลนี้เรียกว่ากฎหมายธรรมชาติและมีอยู่โดยภาวะวิสัยของมันไม่ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของมนุษย์

3. ยืนยันว่าธรรมชาติมนุษย์มีเหตุผล (Reason) คือความสามารถในการที่จะรู้ถึงความผิดชอบชั่วดีได้

4. กฎเกณฑ์ที่ใช้ในสังคมมนุษย์รวมทั้งกฎหมายบ้านเมือง มีบ่อเกิดมาจากเหตุผลของมนุษย์ที่กล่าวนี้และเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายธรรมชาติ

5. ธรรม ความยุติธรรม และศีลธรรม จึงเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกฎหมายบ้านเมือง หน้าที่สำคัญของวิชานิติศาสตร์โดยเฉพาะวิชานิติปรัชญาคือการค้นคว้าให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์เหล่านั้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น