จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิเคราะห์แนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติ ตอนที่ 4


ผลของความคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติ

การศึกษาถึงความคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติสอนเราว่า แม้ขณะนี้จะถือว่ากฎหมายธรรมชาติไม่ได้มีอยู่จริง แต่มีหลักยุติธรรมเป็นกลางๆ อยู่ ซึ่งทั่วโลกได้ยอมรับรอง ซึ่งในการบัญญัติกฎหมายก็ ดี ในการพิพากษาอรรถคดีก็ดี สภานิติบัญญัติและผู้พิพากษาจะต้องยึดไว้เป็นแนวทาง และเพื่อให้เป็นหลักฐานมั่นคง ประเทศฝรั่งเศสในสมัยปฏิวัติได้ประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และ พลเมือง ซึ่งปฏิญญานี้แม้รัฐธรรมนูญเดอโกลก็ได้รับว่าคงใช้อยู่ต่อไป ดังปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ และเมื่อได้มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น ก็ได้มีประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ฉะนั้นแม้จะไม่ปรากฏในปฏิญญาสากลฯ นักกฎหมายในการตีความและอุดช่องว่างแห่งกฎหมายก็ควรจะคิดถึงคุณงามความดีเป็นเครื่องนำทางดุลกัน

ความเป็นสากลเป็นนิรันดรของกฎหมายธรรมชาติหมาย ความว่าอย่างไร ล้วนแต่เป็นปัญหาที่นักปราชญ์ได้ขบคิดตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงสมัยปัจจุบัน และยังคงเป็นปัญหาที่จะต้องค้นคิดกันต่อไป ยังไม่เป็นที่ยุติกันได้ จึงเป็นจุดอ่อนให้มีผู้โจมตีคัดค้านได้มาก โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 จนมีผู้สรุปเอาง่ายๆ ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า ความคิดสำนักกฎหมายธรรมนิยม ดังกล่าวนี้ไม่มีมูลความจริง ไม่มีความหมาย และจะต้องเสื่อมสูญไปในที่สุด แต่จากประสบการณ์ที่ได้รับจากระบบเผด็จการของฮิตเลอร์ซึ่งได้ก่อกรรมทำเข็ญ โดยชอบด้วยกฎหมายของบ้านเมือง ทำให้นักคิดในยุโรปสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองกลับมานับถือและเน้นความสำคัญของกฎหมายธรรมชาติ เพราะมนุษย์จะต้องพยายามหาหลักการบางอย่างเพื่อมาวินิจฉัยความถูกผิดของการกระทำของรัฐ ในเมื่อกฎหมายบ้านเมืองไม่สามารถจะช่วยเหลือได้ ทำให้ความคิดของสำนักธรรมนิยม ได้กลับฟื้นคืนชีพและรุ่งเรืองอีกครั้งหนึ่ง และในระยะหลังนี้กระบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนก็เป็นส่วนหนึ่งของการ ฟื้นฟูความคิดสำนักธรรมนิยมด้วย

วิเคราะห์ทฤษฎีสำนักกฎหมายธรรมชาติ

ธรรมชาตินั้น ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างหรือกำหนดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ค้นพบ เพราะมนุษย์มีความสงสัย มีเหตุผล และมีสติปัญญา จึงค้นพบกฎเกณฑ์ กติกาเหล่านั้น

ความสงสัยเป็นตัวกระตุ้นในการพัฒนาการของมวลมนุษยชาติ เช่น สงสัยว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเกิด ขึ้นได้อย่างไร ทำให้มนุษย์พยายามหาคำตอบ และคำตอบที่นำไปอธิบายสิ่งที่สงสัยเหล่านั้นคือเหตุผล เมื่อมนุษย์เลิกสงสัยปรากฏการณ์ทางธรรมชาติแล้ว มนุษย์ก็เริ่มมาสงสัยสิ่งรอบตัว และตัวมนุษย์เองเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์มีอยู่ เช่น ทำไมสิ่งของในธรรมชาติไม่ มีเจ้าของ มนุษย์ไปไหนมาไหนก็ได้โดยไม่มีกฎเกณฑ์ กติกาจำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือทำไมไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดชีวิตของมนุษย์  แต่เมื่อใช้เหตุผลอธิบายเพื่อหาคำตอบก็พบว่า ความจริงสิ่งเหล่านั้นมีกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติกำหนดอยู่ว่ามนุษย์จะใช้สิทธิได้เพียงใด มีเสรีภาพได้เพียงใด

สิทธิเสรีภาพที่มนุษย์มีนั้นมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เพียงแต่มนุษย์ไปค้นพบ และสิทธิเสรีภาพในยุคก่อนได้พัฒนาการต่อมาโดยบัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่น สิทธิในชีวิตร่างกาย และเสรีภาพในเคหสถาน (หมายเหตุ: ประเด็นปัญหาที่ตามมาคือสิทธิเสรีภาพจะถูกจำกัดได้หรือไม่[1] เช่น ยอมให้ตำรวจค้นบ้านโดยไม่มีหมายค้นได้หรือไม่ หรือยินยอมให้ผู้อื่นทำร้ายชีวิตและร่างกายได้หรือไม่[2] หรือทำร้ายตัวเองได้หรือไม่ เช่น การฆ่าตัวตาย[3] หรือกรณีโทษประหารชีวิต[4])

กฎเกณฑ์ทางธรรมชาติอยู่ในรูปกฎหมายนามธรรม มีองค์ประกอบเป็นความยุติธรรม เหตุผล และศีลธรรม เหตุผลที่ใช้อธิบายกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ (ซึ่งมีอยู่แล้วตามธรรมชาติและมนุษย์เป็นผู้ค้นพบนั้น) ประกอบด้วย 2 กรณี คือ

1. เหตุผลทางศีลธรรม หรือหลักต่างตอบแทน เป็นเหตุผลที่มีศีลธรรมมาเกี่ยวข้อง&n   กล่าวคือ หากเราไม่ประสงค์ให้ใครทำสิ่งใดกับเรา เราก็ไม่ทำสิ่งนั้นกับผู้อื่นเช่นเดียวกัน ได้แก่ เราไม่ต้องการให้ใครมาฆ่าเรา เราก็ต้องไม่ฆ่าหรือทำร้ายคนอื่น อันเป็นกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ และใช้หลักต่างตอบแทนอธิบาย โดยหลักนี้เน้นไปใช้และเป็นพัฒนาการในกฎหมายอาญาในปัจจุบัน

2. หลักตรรกวิทยา เพราะมนุษย์มีสติปัญญาในการใช้หลักตรรกวิทยาในการอธิบายกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ เช่น ก เอารถของผู้อื่นไปขายให้ ข ซึ่งเป็นผู้รับโอน ข ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าเจ้าของที่แท้จริง ทำให้ค้นพบหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน อันเป็นหลักที่มาของกฎหมายในปัจจุบัน

แนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติในเรื่องศีลธรรม และความยุติธรรม

เนื่องจากกฎหมายธรรมชาติกับศีลธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน ฉะนั้น สิ่งใดที่ขัดกับศีลธรรมจะทำไม่ได้ โซเครติส กล่าวว่า ความยุติธรรมนั้นมีอยู่ในตัวของมันเอง ใครจะเห็นหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ การอธิบายความยุติธรรมนั้นจะอธิบายได้ด้วยเหตุผลเท่านั้น ส่วนเพลโต อธิบายความยุติธรรมด้วยการแบ่งคุณธรรมออกเป็น 4 ประเภท คือ 1. ปัญญา 2. ความกล้าหาญ 3. ความอดทน 4. ความยุติธรรม  แล้วจัดชนชั้นไปใส่ในคุณธรรม โดยปัญญาจะต้องมีแก่ผู้ปกครอง ถ้ารัฐใดมีผู้ปกครองที่ไม่มีปัญญา รัฐนั้นก็มีปัญหาเรื่องการปกครอง ส่วนความกล้าหาญต้องมีแก่นักรบ ความอดทนต้องมีแก่สามัญชน และความยุติธรรม จะต้องมีแก่ทุกชนชั้น แต่อริสโตเติ้ลแบ่งความยุติธรรมเป็น 2 ลักษณะ คือ ความยุติธรรมทั่วไป และความยุติธรรมเฉพาะเรื่อง

ความยุติธรรมทั่วไปยังแบ่งเป็น 1.ความยุติธรรมตามธรรมชาติ และ 2.ความยุติธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น    ความยุติธรรมตามธรรมชาติเป็น ความยุติธรรมที่เป็นสากล ไม่ขึ้นอยู่กับการยอมรับของบุคคลใด ส่วนความยุติธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ป้ายจราจร ป้ายห้ามจอด  อริสโตเติ้ล กล่าวว่ามนุษย์สมมุติขึ้น สร้างกฎเกณฑ์กติกาขึ้นมาว่าป้ายห้ามจอดนี้เป็นความยุติธรรมแก่สังคม เป็นความมีระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง เป็นความยุติธรรมที่ไม่มีอยู่ดั้งเดิม แต่มนุษย์กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาสร้างความยุติธรรมขึ้นแก่สังคม

ส่วนความยุติธรรมเฉพาะเรื่องแบ่งเป็น 1.ความยุติธรรมในการจัดสรรปันส่วน ซึ่งใช้หลักเรื่องความเหมาะสมเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา ความยุติธรรมในลักษณะนี้จึงไม่ได้ตกหรือเกิดแก่ทุกคน เช่น เรื่องอำนาจ หน้าที่ ยศ ตำแหน่ง  2.ความยุติธรรมในการแลกเปลี่ยนทดแทน  ในการแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน เช่น ซื้อขาย ส่วนการทดแทนเป็นการทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดอัน เกิดจากการละเมิดกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ธรรมชาติ บุคคลดังกล่าวย่อมได้รับการทดแทน เป็นลักษณะของความยุติธรรมเฉพาะเรื่อง ไม่ได้เกิดแก่ ก หรือ ข แต่ทดแทนให้เฉพาะคนที่ได้รับความเสียหาย

สรุปแล้วแนวคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติมีหลักพื้นฐาน คือ

1. เป็นสากล คือ มีอยู่ตามธรรมชาติทั่วไป ที่ไหนมีมนุษย์ที่นั่นก็มีกฎเกณฑ์ธรรมชาติในลักษณะของกฎเกณฑ์ซึ่งเป็นสากล

2. เป็นกฎหมายที่ใช้ได้ทุกกาลเวลา ทุกสถานที่ ไม่จำกัดขอบเขตหรืออำนาจอธิปไตย

3. เป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติแล้วมนุษย์ไปค้นพบ

แนวคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติเปรียบเทียบกับกฎหมายปัจจุบัน

1. เหตุแห่งการหย่า ไม่ขัดต่อกฎหมายธรรมชาติ เพราะแนวคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาติถือว่าเป็นการที่มนุษย์จะกำหนดเสรีภาพของตนที่จะไปอยู่กับใครและจะใช้ชีวิตอย่างไร

2. การได้ชีวิต เช่น นาย ก กับนาง ข แต่งงานจดทะเบียนสมรส แต่ไม่สามารถมีบุตรได้ จึงไปจ้างนางสาว จ ใช้วิทยาศาสตร์ในการทำกิ๊ฟ เมื่อครบกำหนดคลอดเด็กชาย ช ดังนี้ แม้การจ้างดังกล่าวไม่ได้เป็นการทำลายชีวิต แต่เป็นการได้ชีวิต จึงไม่ขัดต่อกฎหมายธรรมชาติ  ส่วนการจ้างเป็นเรื่องของสัญญาให้พิจารณาว่าขัดหลักเกณฑ์กฎหมายปัจจุบันหรือไม่ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่  และบุตรที่เกิดเป็นบุตรของใคร ซึ่งตามกฎหมายธรรมชาติและกฎหมายปัจจุบันผลเหมือนกัน คือ นางสาว จ ได้ค่าจ้าง (แสดงว่าสัญญาใช้บังคับได้) และได้บุตรด้วย

3.การคุมกำเนิด เมื่อปี 1965 รัฐคอนเนคติกัส ในอเมริกาออกกฎหมายห้าม คู่สมรสคุมกำเนิด คู่สมรสรวมตัวกันฟ้องต่อศาลว่า กฎ ระเบียบ ข้อบังคับดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลพิจารณาแล้วตัดสินว่ากฎ ระเบียบ ข้อบังคับหรือกฎหมายที่รัฐออกมานั้นขัดรัฐธรรมนูญ และขัดกับลักษณะแนวคิดของกฎหมายธรรมชาติ การห้ามคุมกำเนิดจึงทำไม่ได้   (แนวคิดนี้นำไปใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา ที่สามีภริยาหรือหญิงชายจดทะเบียนสมรสกัน และทำสัญญาจะไม่ร่วมหลับนอน สัญญานี้ใช้บังคับตามกำหมายปัจจุบันได้หรือไม่ และขัดกับกฎหมายธรรมชาติหรือไม่)

4. การบริจาคอวัยวะ เช่น พ่อแม่ให้ลูกสาวบริจาคไตให้แก่น้องซึ่งไตพิการและต้องการไตด่วน แม่ให้ความยินยอมให้ลูกสาวบริจาคแล้ว แต่โรงพยาบาลไม่ยอมผ่าตัดเปลี่ยนไตให้และนำคดีไปฟ้องศาลในรัฐเท็กซัส แต่ศาลตัดสินว่าการที่พ่อแม่ให้ความยินยอมให้ลูกสาวบริจาคไตให้น้องนั้น ไม่มีลักษณะบังคับ ขู่เข็ญ และหากไม่ผ่าตัดเปลี่ยนไตให้น้อง พี่ก็จะมีความทุกข์ทรมานในทางจิตใจ และการบริจาคนั้นก็ไม่ได้รับความลำบากทางกายภาพที่จะถึงแก่ชีวิตและร่างกาย ทั้งการบริจาคนั้น พี่สาวจะได้รับประโยชน์มากกว่าการไม่บริจาค  แนวคิดของศาลรัฐเท็กซัสจึงเป็นไประบบจารีตประเพณี แต่ตามกฎหมายธรรมชาติแล้ว ไม่สามารถบริจาคได้ เพราะบุคคลใด(แม้จะเป็นพี่น้องกัน)เอาอวัยวะออกจากร่างกายไม่ได้ ถ้าไม่ใช่เพื่อการรักษาพยาบาลของตัวเจ้าของอวัยวะเอง

5.การให้เลือด เช่น กรณีผู้ป่วยเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร แพทย์ลงความเห็นว่าจะต้องมีการถ่ายเลือดและให้เลือด แต่ผู้ป่วยไม่ยินยอมอ้างว่านับถือพระยะโฮวา แพทย์ต้องการช่วยชีวิตผู้ป่วยอ้างว่าเพื่อประโยชน์ของสังคมเพื่อประโยชน์ของ มนุษย์ แต่ผู้ป่วยก็ไม่ยินยอม จึงมีการนำคดีสู่ศาลในรัฐอิลินอย ซึ่งศาลตัดสินตามแนวกฎหมายธรรมชาติว่า แพทย์ทำไม่ได้ โดยให้เหตุผลเรื่องเสรีภาพบริบูรณ์ในการเลือกนับถือศาสนา แม้แพทย์จะอ้างว่าเพื่อประโยชน์ของสังคม แต่การปกป้องชีวิตพลเมือง สาธารณสุข ความปลอดภัยและสวัสดิการไม่สมควรเข้าไปแทรกแซงความเชื่อทางศาสนา การปฏิเสธของผู้ป่วยดังกล่าวนั้น ผู้ป่วยก็ทราบอยู่แล้วว่าสิ่งที่จะตามมาคือความตาย กรณีข้างต้นคล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 37 ในเรื่องของเสรีภาพบริบูรณ์ ที่จะใช้หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขใดๆ มากำหนดหรือจำกัดสิทธินั้นไม่ได้

6. ห้ามไม่ให้รักษาพยาบาล เช่น ผู้ป่วยหญิงอายุ 76 ปี โทรศัพท์เรียกหมอประจำตัวให้ไปรักษาตนเองที่บ้านเป็นการด่วน แต่เมื่อหมอไปถึงพบว่าหญิงนั้นหมดสติ เพราะกินยานอนหลับเกินขนาด ในมือเขียนข้อความว่า เรียน คุณหมอ อย่านำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหมอเห็นว่าอาการหนักไม่สามารถช่วยชีวิตได้แล้ว จึงปฏิบัติตามความประสงค์ของผู้ป่วยโดยไม่นำส่งโรงพยาบาล แต่นั่งดูเป็นเพื่อนหญิงนั้นตาย คดีนี้หมอถูกฟ้องที่ศาลเยอรมัน ศาลสูงเยอรมันตัดสิน (ตามกฎหมายธรรมชาติ) ว่า หมอมีไม่มีความผิดอาญา เพราะในสภาวการณ์ที่หมออยู่นั้น หมอไม่สามารถช่วยอะไรได้มากไปกว่านั้น การที่หมอนั่งดูผู้ป่วยจนผู้ป่วยตายไป ถือว่าหมอได้ทำหน้าที่ในลักษณะหนึ่งแล้ว

1 ความคิดเห็น:

  1. Slot machine games available - Wooricasinos
    Popular Slot bet surface area Machines 벳 365 가상 축구 주소 · 1. Mega Fortune Slot Machine · 2. Mega Fortune Slot Machine · 3. Mega Jackpot Slot Machine · 리턴벳 4. Red Tiger Slots Slot Machine · 윌리엄 힐 5. 벳플릭스 Wild West

    ตอบลบ