จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิเคราะห์แนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติ ตอนที่ 1

ตอนที่ 1
ความเป็นมา
มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ได้ย่อมต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั้งทาง ด้านวัตถุและด้านจิตใจ มนุษย์จึงอยู่รวมเป็นกลุ่มมาตั้งแต่เริ่มแรกมีมนุษย์เกิดขึ้นในโลก กลุ่มคนอาจจะมีขนาดเล็กตั้งแต่ 2-3 คนขึ้นไปจนถึงกลุ่มขนาดใหญ่มีสมาชิกหลายร้อยล้านคน กลุ่มเล็กที่สุด ได้แก่ ครอบครัว ซึ่งประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก และญาติพี่น้อง ครอบครัวหลายๆ ครอบครัวรวมกันเป็นชุมชน และชุมชนหลายๆ ชุมชนรวมกันเป็นสังคม (ยุทธ ศักดิเดชยนต์ 2527: 5)

กฎหมายเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์มีการรวมตัวกันเป็นสังคม จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องมีเกณฑ์กลางที่เป็นหลักให้ผู้ที่อยู่ในสังคมนั้น ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข ดังคำสุภาษิตละตินที่ว่าที่ไหนมีสังคมที่นั่นมีกฎหมาย (ศรีราชา เจริญพานิช 2538: 318-319)

 โดยกฎหมายมีหน้าที่ในการอำนวยให้ชีวิตสังคมเป็นไปอย่างปกติสุข สังคมจะอยู่เป็นปกติสุขได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกของสังคมสามารถที่จะมีความ สัมพันธ์ร่วมมือกันได้อย่างราบรื่น แต่ละคนมีความมั่นใจได้พอสมควรว่าเมื่อเราทำหน้าที่ส่วนของเราแล้ว คนอื่นๆ ก็จะปฏิบัติตามหน้าที่ๆ ที่เขามีอยู่ต่อเราเช่นเดียวกัน ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมสามารถวางแบบแผนกฎเกณฑ์ทั้งที่เป็น ทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อเป็นแนวทางความประพฤติของสมาชิกทั้งหลาย และสามารถบังคับให้โทษแก่สมาชิกที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคม 

หน้าที่ของกฎหมายประการแรก จึงได้แก่การควบคุมสังคม (social control) ทำให้สังคมมีความเป็นระเบียบในสังคมย่อมประกอบด้วยบุคคลจำนวนมาก แต่ละคนมีความคิด ความต้องการ หรือผลประโยชน์แตกต่างกันไป ความขัดแย้งหรือพิพาทกันระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลย่อมเกิดขึ้นได้เป็น ธรรมดา แต่ถ้าการขัดแย้งมีมากและแต่ละฝ่ายพิพาทกันโดยใช้กำลังเป็นเครื่องตัดสิน สังคมย่อมจะรักษาระเบียบเอาไว้ยาก สังคมจะมีแต่ความสับสนยุ่งเหยิง และมีความรุนแรงเกิดขึ้น ดังนั้นกฎหมายจึงมีหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การระงับข้อพิพาท (displte settlement) หรือการขัดแย้งภายในสังคม และในการวางระเบียบกฎเกณฑ์ก็ดี ในการระงับข้อพิพาทระหว่างบุคคลก็ดี

กฎหมายต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมและศีลธรรมของสังคมกฎหมายจึงเป็นกลไกที่จะรักษาไว้ซึ่งความเที่ยงธรรมและหลักศีลธรรมของสังคม สังคมที่เป็นธรรมจะมีขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีกฎหมายที่เป็นธรรม (ยุทธ ศักดิเดชยนต์ 2527: 13)

โดยที่กฎหมายใน สังคมบรรพกาล (primitive societies) อยู่ในรูปของขนบธรรมเนียม ประเพณี และคำสั่งสอนทางศาสนา มีหัวหน้าเผ่าเป็นผู้มีหน้าที่รักษากฎเกณฑ์เหล่านั้น ยังไม่มีสถาบันศาล แต่ในสังคมสมัยใหม่ (modern societies) มีการวางระเบียบวิธีการมากขึ้น ทั้งในด้านบริหาร การปกครอง และการจัดการ มีการจัดระดับฐานะของกฎหมายชัดเจนมีองค์กรที่บัญญัติกฎหมาย และควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายมีลักษณะเป็นสถาบันที่ชัดเจน และมีแบบแผนซับซ้อนมากขึ้น (ยุทธ ศักดิเดชยนต์ 2527: 58)

กฎหมายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปรู้หรืออย่างน้อยกฎหมายก็สันนิษฐานว่าทุกคนรู้ แต่เป็นสิ่งที่ให้ความหมายแน่นอนตายตัวได้ยาก นักปราชญ์ทางกฎหมายก็ได้พยายามให้คำจำกัดความของกฎหมายมาตั้งแต่โบราณกาล จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครอาจให้คำจำกัดความที่แน่นอนตายตัวได้ คำจำกัดความของกฎหมายมีอยู่แตกต่างกันตามทรรศนะของผู้นิยาม กฎหมายในทรรศนะของนักการศาสนาก็แตกต่างกับกฎหมายในทรรศนะของนักประวัติศาสตร์ กฎหมายในทรรศนะของนักประวัติศาสตร์ก็แตกต่างกับกฎหมายในทรรศนะของนักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายในทรรศนะของคนเหล่านี้ก็แตกต่างกับกฎหมายในทรรศนะของนักกฎหมายเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น