จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วิเคราะห์แนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติ ตอนที่ 3

การเกิดของกฎหมายธรรมชาติ

นักปราชญ์มีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่พอสรุปได้ว่ากฎหมายธรรมชาติเกิดได้ 3 ทาง กล่าวคือ

1. กฎหมายธรรมชาติเกิดจากธรรมชาติโดยตรง เหมือนอย่างกฎแห่งแสงสว่าง กฎแห่งความร้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมาเองตามธรรมชาติ

2. กฎหมายธรรมชาติเกิดจากพระเจ้า โดยพระเจ้าเป็นผู้กำหนดให้มีขึ้นและกษัตริย์เป็นผู้ใช้กฎหมายธรรมชาตินั้น ความคิดนี้มาจากคริสต์ศาสนาซึ่งถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างมาจากพระเจ้าทั้งนั้น

3. กฎหมายธรรมชาติจากความรู้สึกผิดชอบของมนุษย์

ทั้งนี้ไม่หมายความว่ากฎหมายธรรมชาติเป็น สิ่งที่มนุษย์จะคิดเองได้ตามใจชอบ เพราะมนุษย์แต่ละคนยังมีความคิดเห็นไปในทางคุ้มครองรักษาประโยชน์ส่วนตัว อยู่ แต่มนุษย์ย่อมรู้สึกว่ากฎหมายธรรมชาติย่อม มีอยู่อันเกิดมาจากความรู้สึกผิดชอบของมนุษย์เอง เช่น เมื่อมนุษย์ไม่อยากถูกกดขี่ข่มเหง ตัวเองก็ไม่ควรที่จะกดขี่ข่มเหงเบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น

(หยุด แสงอุทัย 2518: 130)

ลักษณะของกฎหมายธรรมชาติ

กฎหมายธรรมชาติมีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ

1. ใช้ได้โดยไม่จำกัดเวลา

กล่าวคือ กฎหมายธรรมชาติย่อมใช้ได้เสมอไป ไม่มีเวลาล่วงพ้นสมัยจึงไม่มีเวลาที่จะถูกยกเลิก

2. ใช้ได้โดยไม่จำกัดสถานที่

กล่าวคือ กฎหมายธรรมชาติใช้ได้ทุกแห่ง เพราะเหมาะสมแก่การนำมาใช้ทุกสถานที่ไม่จำกัดว่าจะต้องใช้ในรัฐใดหรือท้องที่ใด

3. เหนือกฎหมายของรัฐ

กล่าวคือ รัฐจะออกกฎหมายให้ขัดแย้งกับกฎหมายธรรมชาติไม่ได้ ถ้ารัฐออกกฎหมายขัดแย้งกับกฎหมายธรรมชาติแล้วกฎหมายนั้นก็ใช้บังคับไม่ได้ (หยุด แสงอุทัย 2518: 131)

นักปราชญ์สำคัญที่ได้เสนอแนวความคิดกฎหมายธรรมชาติ ได้แก่ เฮราลิตัส (Heralitus) อริสโตเติล (Aristotle) นักปราชญ์กลุ่มสโตอิคส์ (Stoics) ซิเซโร (Cicero) เซนต์ทอมัสอไควแนส (St. Thomas Aquinas) ฮิวโก โกรติอุส (Hugo Grotius) วิลเลียมส์ แบล็คสโตน (William Blackstone) จอห์น ล็อค (John Locke) มองเตสกิเออ (Montesquieu) เดวิด ฮูม (David Hume) และอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) (วิชา มหาคุณ 2527: 27)

ซิเซโร (Cicero)

ซิเซโร (106-43 ก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งเป็นนักปราชญ์คนสำคัญของโรมันและเชื่อมั่นในหลักกฎหมายธรรมชาติ ได้กล่าวว่า

กฎหมายที่แท้จริงนั้นคือเหตุผลที่ถูกต้องสอดคล้องกับธรรมชาติแผ่ซ่านไปในทุกสิ่งทุกอย่างสม่ำเสมอเป็นนิจนิรันดร์ เป็นกฎหมายที่ ก่อให้เกิดหน้าที่ที่จะต้องทำโดยคำสั่งหรือห้ามไม่ให้กระทำความชั่วโดยข้อ ห้าม เป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่เราจะต้องไม่พยายามที่จะบัญญัติกฎหมายให้ขัดแย้งกับกฎหมายนี้ กฎหมายนี้ เราไม่อาจที่จะตัดทอนแก้ไขหรือเพิกถอนยกเลิกเสียได้ อันที่จริงแล้วไม่ว่าวุมิสภาหรือประชาชนก็ไม่มีอำนาจที่จะปลดปล่อยเราให้พ้น จากบังคับของกฎหมายนี้ และเราไม่จำต้องพึ่งบุคคลหรือสิ่งอื่นใดนอกจากตัวของเราเองที่จะเป็นผู้อธิบายให้เห็นว่ากฎหมายนั้นคืออะไรหรือตีความกฎหมายนั้นมีความหมายอย่างไร กฎหมายนี้ ไม่เป็นอย่างหนึ่งที่กรุงโรม และเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เอเธนส์ หรือเป็นอย่างหนึ่งในขณะนี้และเป็นอีกอย่างหนึ่งในสมัยอื่น แต่ยังคงเป็นกฎหมายอันหนึ่งอันเดียวไม่เปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดรและผูกพันบังคับทุกชาติทุกภาษีทุกยุคทุกสมัย (กุลพล พลวัน 2520: 8-10)

จากคำกล่าวของซิเซโร แสดงให้เห็นว่ากฎหมายธรรมชาตินั้นเป็นกฎหมายที่อยู่สูงกว่ากฎหมายที่มนุษย์บัญญัติขึ้นและเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ที่จะไม่บัญญัติกฎหมาย กฎหมายต่างๆ ขึ้นใช้ในบ้านเมืองให้ขัดกับกฎหมายธรรมชาตินี้ และแนวความคิดดังกล่าวนี้ได้เป็นเครื่องมือที่สำคัญของบรรดานักปราชญ์แต่ ครั้งโบราณคือตั้งแต่สมัยกรีก และสมัยโรมันที่ใช้ในการจำกัดอำนาจของกษัตริย์หรือผู้มีอำนาจปกครองซึ่งเห็น ว่ามีอำนาจมากเกินไป (กุลพล พลวัน 2520: 11)

จากแนวความคิดเรื่องกฎหมายธรรมชาตินี้เอง ได้ทำให้เกิดความคิดเกี่ยวกับสิทธิธรรมชาติ เป็นผลสืบเนื่องตามมาโดยมีแนวความคิดอยู่ว่า มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกันและพระเจ้าซึ่งเป็นผู้สร้างมนุษย์ขึ้นมาได้ให้ สิทธิบางอย่างแก่มนุษย์ สิทธิเหล่านี้ไม่อาจโอนให้แก่กันได้ และไม่มีใครจะล่วงละเมิดได้ ซึ่งได้แก่สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และสิทธิในทรัพย์สิน และรัฐทั้งหลายจะต้องกระทำทุกอย่างเพื่อให้มนุษย์มีสิทธิเหล่านี้อย่างเต็ม ที่ วิธีการเช่นนี้ทำให้มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์โลกที่ใช้เหตุผล ยอมรับว่าเป็นหลักที่ดี และเชื่อว่าจะทำให้มนุษย์อยู่ในสังคมอย่างสันติและมีความสุข นักปราชญ์ในสมัยก่อนได้ให้ความสำคัญแก่สิทธิธรรมชาติเป็นอย่างมากในฐานะที่เป็นสิ่งที่คู่กับกฎหมายธรรมชาติใน สมัยที่กรีกอยู่ในระยะรุ่งเรือง ประชาชนในนครรัฐกรีกได้รับรองซึ่งสิทธิที่สำคัญบางประการเช่นสิทธิในการพูด เท่าเทียมกัน (Isogoria) และสิทธิในความเสมอภาคกันตามกฎหมาย (Isonomia) ซึ่งสิทธิทั้งสองนี้ได้กลายเป็นสิทธิที่สำคัญยิ่งและถูกกล่าวอ้างกันเสมอในปัจจุบัน (ศิระชัย พุทธิแพทย์ 2497: 2)

สำนักธรรมนิยมหรือสำนักกฎหมายธรรมชาติ ในภาษาไทยเรามักจะกล่าวถึงว่า เรื่องนั้นเอ็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม โดยเราเข้าใจว่าในโลกนี้มีระบบ ระเบียบที่เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมอยู่ในตัวของมันเอง ระบบที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ในตัวของมันเองนี้เป็นความเชื่อของ ทุกชาติทุกภาษาทุกวัฒนธรรม เป็นระบบ ธรรมที่มนุษย์ไม่ได้สร้างมันขึ้น แต่มนุษย์ได้เอาระบบ ธรรมนี้มาใช้กับสภาพสังคมและบ้านเมืองของมนุษย์ มนุษย์ไม่สามารถที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในระบบธรรมเช่นนั้นได้ แต่หากมีความจำเป็นเพื่อให้เหมาะสมกับกาลเทศะและคดีมนุษย์อาจใช้มาตรการ บางอย่างปรุงแต่ง เสริมกฎเกณฑ์ของระบบธรรมนั้นได้บ้าง ความคิดเช่นนี้มันมีอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาแต่ดั้งเดิม กฎหมายขั้น ธรรมที่มีความสำคัญสูงยิ่งเราเรียกว่า พระธรรมศาสตร์ส่วนมาตรการที่มนุษย์กำหนดขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับกาลเทศะและคดีเราเรียกว่า พระราชศาสตร์” “ราชนิติประเพณีและที่ผู้ปกครองบ้านเมืองได้กำหนดขึ้นเฉพาะกรณีเราเรียกว่า พระราชบัญญัติพระราชกำหนด พระบรมราชโองการ แสดงให้เห็นว่าความคิดกฎหมายไทยแบบโบราณนั้นรับรู้ว่า กฎหมายที่มีอยู่ในบ้านเมืองนั้น มีหลายประเภทต่างลำดับชั้นกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบเนียนและใกล้ชิด

กฎหมายขั้น สูงชั้นธรรมศาสตร์แม้พระเจ้าแผ่นดินก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ พระเจ้าแผ่นดินตามความคิดของไทยโบราณเป็นผู้ดำเนินการและบังคับการตามกฎหมาย (ธรรมศาสตร์) และชี้ขาดตัดสินคดีตามกฎหมาย ทำนองเดียวกันความคิดเรื่องนิติบัญญัติจึงไม่มี จากคำว่า ธรรมศาสตร์เราจะเห็นได้ชัดว่า กฎหมายกับ ธรรมหรือความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ความคิดเกี่ยวกับกฎหมายของไทยที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ชัดว่า มีหลักการพื้นฐานที่ตรงกับความคิดชาติอื่นๆ โดยเฉพาะตรงกับความคิดของสำนัก Natural Law ตามที่เข้าใจในวัฒนธรรมตะวันตก (ปรีดี เกษมทรัพย์ 2526: 314)

1 ความคิดเห็น:

  1. Harrah's Cherokee Casino Hotel & RV Park
    Harrah's Cherokee Casino 삼척 출장안마 Hotel & RV 영주 출장안마 Park is a perfect 군산 출장마사지 place 라이브스코어 for you 양주 출장마사지 and will have fun at any time. It's located just 20 minutes from Harrahs Cherokee

    ตอบลบ